http://boonrod1.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

กระดานสนทนา

 ทำเนียบป.โท รุ่น 7

 รวมรูปภาพ

กลุ่มกศ.นอกระบบ กศน.ชัยภูมิ

 ติดต่อเรา

บริการ

ผลงานวิชาการ

บทความ กศน.

เกร็ดความรู้

กฎ ระเบียบ

ปฎิทิน

« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 

สถิติ

เปิดเว็บ05/05/2010
อัพเดท30/11/2018
ผู้เข้าชม90,759
เปิดเพจ115,840
iGetWeb.com
AdsOne.com

การพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ

การพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ

บุญรอด  แสงสว่าง[1], จิตรลดา  ซิวดอน[2], ชัยยุทธ  ศิริสุทธิ์[3]

 บทคัดย่อ

 การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ  ตามกรอบงานบริการของห้องสมุด 8 ด้าน คือ การบริการยืมหนังสือ สื่อวัสดุสารนิเทศ การบริการคืนหนังสือ สื่อวัสดุสารนิเทศ  การบริการค้นคว้าและตอบคำถาม การบริการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต  การบริการให้อ่านและศึกษาค้นคว้าจากสื่อความรู้หรือทรัพยากรสารนิเทศโดยเสรี  การบริการแนะนำการใช้ห้องสมุด  การบริการสมัครสมาชิกและทำบัตรสมาชิกห้องสมุด และการบริการสืบค้นหนังสือ สื่อวัสดุสารนิเทศ  ตามกระบวนการพัฒนาระบบ SDLC  5 ขั้นตอน คือ การศึกษาระบบ การวิเคราะห์ระบบ การออกแบบระบบ การใช้ระบบ และการดูแลรักษาและการทบทวนระบบ โดยใช้การวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการ  และการนิเทศภายใน กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า จำนวน 5 คน ประกอบด้วย ผู้ศึกษาค้นคว้า ผู้บริหารสถานศึกษา  ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน  พนักงานราชการ  และพนักงานพิมพ์ดีด  กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 20 คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน  ผู้ใช้บริการห้องสมุด 16 คน และวิทยากร 1 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกการประชุม แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน แบบสอบถาม และแบบสังเกต การตรวจสอบข้อมูลยึดหลักการตรวจสอบข้อมูลสามเส้า (Triangulation) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าโดยการพรรณนา
          ผลการศึกษาค้นคว้า พบว่า การพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ  โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ทำให้ห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า มีระบบงานบริการที่มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการด้านการยืม การคืน การสืบค้น และการทำบัตรสมาชิกห้องสมุดที่สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับการพัฒนาระบบงานที่ห้องสมุดต้องดำเนินการจัดระบบงานให้สะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการบริการ และการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ถึงความจำเป็นและต้องการใช้ในการบริหารงานห้องสมุด โดยเฉพาะการจัดหาหนังสือ สื่อสารนิเทศ สื่อความรู้หรือวัสดุในห้องสมุดเพื่อนำมาสนับสนุนการบริการของห้องสมุดประชาชน ตามความต้องการผู้ใช้บริการและผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด การพัฒนาทำให้ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าเกิดทักษะและความชำนาญในการใช้โปรแกรมระบบงานบริการห้องสมุด  มีการประเมินผลที่สะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นปัจจุบัน ง่ายต่อการสืบค้นและเรียกใช้ได้ทันเวลา สามารถนำมาวิเคราะห์ ตัดสินใจพัฒนาคุณภาพการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จากการประเมินสภาพการให้บริการของห้องสมุดประชาชน โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้ระบบ เห็นว่าระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด คู่มือการปฏิบัติงานบริการ มีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก  และผู้ใช้บริการห้องสมุดมีความพึงพอใจ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
          โดยสรุป การพัฒนาระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า โดยใช้การวิจัยปฏิบัติการ และกลยุทธ์ 2 ประการ คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ตามกรอบการพัฒนาระบบทำให้งานบริการห้องสมุดเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน

 คำสำคัญ :  การพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชน, งานบริการห้องสมุด, ห้องสมุด, ห้องสมุดประชาชน.

 บทนำ

           ห้องสมุดประชาชนเป็นแหล่งสารสนเทศที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้บริการสารสนเทศแก่ชุมชนโดยไม่จำกัดเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนาและระดับการศึกษาของผู้ใช้บริการ โดยไม่หวังผลตอบแทนเพราะถือว่าห้องสมุดประชาชนเกิดขึ้น  จากการให้การสนับสนุนของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการบริจาคทรัพย์สินส่วนตัว เสียภาษีให้แก่รัฐบาล หรือการสนับสนุนกิจกรรมแก่องค์กรที่ห้องสมุดสังกัด เพราะห้องสมุดประชาชนมีทั้งสังกัดภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ  เอกชน  สมาคม และองค์การระหว่างประเทศ  ซึ่งทุกประเภทล้วนแต่เป็นแหล่งสารสนเทศเพื่อการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตสำหรับประชาชน (กรมการศึกษานอกโรงเรียน.  2545 : 25) มีหน้าที่ให้บริการความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนและท้องถิ่น  ได้ขยายขอบเขตการให้บริการไปยังประชาชนทั่วไป ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 25 ระบุไว้ว่า “รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่ทุกรูปแบบ ให้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณ  สวนพฤกษาศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬา และนันทนาการ แหล่งข้อมูล และแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ(สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน.  2547 : 1)  
          ห้องสมุดประชาชน  ถือว่าเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ที่สำคัญ และเป็นศูนย์รวมที่จะสามารถพัฒนาประชาชนให้เป็นคนที่มีนิสัยรักการอ่าน มีความรู้กว้างขวาง  มีโลกทัศน์ที่กว้าง  สามารถรอบรู้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ  เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่อไป  ห้องสมุดจะต้องมีเอกสารสิ่งพิมพ์และสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและมีคุณภาพไว้ให้บริการแก่ประชาชน ตลอดจนมีการบริการที่สะดวก รวดเร็ว เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนได้เลือกศึกษาค้นคว้าตามความถนัด ความสามารถ และความสนใจ  โดยผู้ที่เข้ามาใช้บริการห้องสมุดจะต้องได้รับความรู้จากการค้นคว้าอย่างเต็มที่ อันจะเป็นประโยชน์ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย  และเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพ  การเปลี่ยนแปลงบทบาทของห้องสมุดประชาชนให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น เป็นการเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการให้บริการที่ประชาชนจะได้เรียนรู้มากที่สุด 3 ประการ คือ 1) การเป็นแหล่งการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  2) การเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ  และ 3) การเป็นศูนย์ข้อมูลชุมชน 
(ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย.  2545 : 27-30)
          จากการศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาในการดำเนินงานของห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ โดยการวิเคราะห์ระบบงานห้องสมุด พบสภาพปัจจุบันปัญหาที่ต้องการเร่งพัฒนาระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชน สภาพปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ การจัดเก็บระบบหนังสือ  สื่อ และวัสดุสารนิเทศไม่เป็นระบบ ปัญหาขาดสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ปัญหาขาดบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการจัดระบบงานห้องสมุดประชาชน  ซึ่งระบบงานห้องสมุดในปัจจุบันใช้ระบบที่ทำด้วยมือ (Manual) บันทึกทุกอย่างลงในสมุดหรือแฟ้มเอกสาร ทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน  และเกิดผิดพลาดในเรื่องของข้อมูลบ่อยครั้ง  อีกทั้งยังมีความยุ่งยากในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ อีกด้วย  เพื่อให้บริการและระบบในการจัดเก็บข้อมูล  หนังสือ  สื่อสิ่งพิมพ์  วัสดุสารนิเทศ  ในการให้บริการของห้องสมุดเพื่อประโยชน์ในการเรียกใช้ข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ผู้ศึกษาค้นคว้าและผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าได้เลือกกิจกรรมที่เป็นปัญหาที่สุดของงานบริการ  คืองานบริการยืมและคืนหนังสือ  สื่อวัสดุสารนิเทศ งานบริการสืบค้นหนังสือ สื่อวัสดุสารนิเทศ  งานบริการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต งานบริการให้อ่านและศึกษาค้นคว้าจากสื่อความรู้หรือทรัพยากรสารนิเทศโดยเสรี  งานบริการแนะนำการใช้ห้องสมุด งานบริการสมัครสมาชิกและทำบัตรสมาชิกห้องสมุด  และบริการค้นคว้าและตอบคำถาม  ดังนั้น ผู้ศึกษาค้นคว้า ในฐานะผู้ทำหน้าที่งานห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ  จึงมีความสนใจที่จะศึกษาและพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า  ให้มีประสิทธิภาพ  ผู้ใช้บริการเกิดความพึงพอใจและบุคลากรผู้เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินงานการจัดบริการสื่อและสารสนเทศ  ได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และได้รับประสบการณ์ ทั้งยังเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนและผู้เกี่ยวข้องนำไปพัฒนาประกอบการวางแผนการปฏิบัติงานห้องสมุดต่อไป

 ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า      

 เพื่อพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ให้มีประสิทธิภาพ

 วิธีการศึกษาค้นคว้า

             กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าและผู้ให้ข้อมูล
     1. ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า  จำนวน 5 คน  ประกอบด้วย  ผู้ศึกษาค้นคว้า  ผู้บริหารสถานศึกษา  ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน  พนักงานราชการ  และพนักงานพิมพ์ดีด 
     2. ผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 20 คน  ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน  ผู้ใช้บริการห้องสมุด 16 คน และวิทยากร 1 คน

การดำเนินการศึกษาค้นคว้า

   การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของ เคมมิสและแม็กแท็กการ์ท (ประวิต เอราวรรณ์.  2545 : 142 ; อ้างอิงมาจาก Kemmis and McTaggart. 1988 : 11-15) โดยใช้กระบวนการทำงานที่เป็นวงจรการวิจัยที่เรียกว่าวงจรวิจัยปฏิบัติการ (Planning Action Observation Reflection = PAOR) ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกตผล (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection)

   1. ขั้นการวางแผน (Planning) ผู้ศึกษาค้นคว้าได้วางแผนการดำเนินการ ดังนี้
        1.1 การศึกษาสภาพปัจจุบันการดำเนินงานและปัญหา
             สภาพปัจจุบัน  ผู้ศึกษาค้นคว้าร่วมและกลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า ได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการดำเนินงานบริการของห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า  8 ด้าน คือ 1) การบริการยืมหนังสือ สื่อ และวัสดุสารนิเทศ  2) การคืนหนังสือ สื่อ และวัสดุสารนิเทศ  3) การบริการสืบค้นและตอบคำถาม  4) การบริการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต 5) การบริการให้อ่านและศึกษาค้นคว้าจากสื่อความรู้หรือทรัพยากรสารนิเทศโดยเสรี 6) การบริการแนะนำการใช้ห้องสมุด 7) การบริการสมัครสมาชิกและทำบัตรสมาชิกห้องสมุด และ 8) บริการสืบค้นหนังสือ สื่อวัสดุสารนิเทศ  พบว่า  ระบบเดิมใช้การบันทึกในสมุดทะเบียนยืม - คืน โดยการรับบัตรสมาชิกประจำตัวจากผู้ยืม บันทึกหมายเลขทะเบียนหนังสือ วันกำหนดส่งลงในด้านหลังของหนังสือ เมื่อเวลารับคืนจะทำโดยการสำรวจวันกำหนดส่งและค้นหาจากหนังสือทะเบียนยืม ซึ่งถ้าวันใดมีผู้ใช้บริการ  ยืมหนังสือ หรือวัสดุอุปกรณ์มากเจ้าหน้าที่จะทำการค้นหารายการผู้ยืมได้ช้า ไม่สะดวก ใช้เวลานาน  ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความไม่สะดวก  และไม่อยากเข้าใช้บริการ การสืบค้นทำได้โดยการค้นจากบัตรรายการที่ไม่มีข้อมูลเป็นปัจจุบัน  จำนวนบัตรรายการไม่ตรงกับจำนวนหนังสือ เมื่อสืบค้นจากบัตรรายการได้แล้ว  ไม่สามารถบอกได้ว่าหนังสือหรือวัสดุที่ต้องการยังอยู่ในห้องสมุดหรือมีสมาชิกคนอื่นยืมไปแล้ว  ผู้ใช้บริการเกิดความไม่พึงพอใจในการยืม- คืนที่ใช้เวลานาน
        1.2 กลยุทธ์ในการพัฒนา
              1.2.1 การประชุมเชิงปฏิบัติการ  เป็นการประชุมปรึกษาหารือ และประชุมชี้แจง ร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมกันแก้ไขปัญหา ในการพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ  โดยเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ความเข้าใจ แก่กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า การวิเคราะห์ระบบงานห้องสมุด การออกแบบระบบงานห้องสมุดและการใช้ระบบงานห้องสมุด
              1.2.2 การนิเทศภายใน เป็นการให้คำปรึกษาแนะนำ ให้คำปรึกษาช่วยเหลือกำกับติดตาม การดำเนินงานพัฒนาโปรแกรมระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า  ซึ่งใช้ในขั้นตอนของการใช้ระบบงานห้องสมุด  และการดูแลรักษาและตรวจสอบระบบงานห้องสมุด
        1.3 แผนปฏิบัติการ (Action Plan)  ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าได้วางแผนการจัดกิจกรรมการพัฒนาระบบงานห้องสมุด 5 ขั้นตอน คือ การศึกษาระบบ การวิเคราะห์ระบบ  การออกแบบระบบ การใช้ระบบ และการดูแลรักษาและการตรวจสอบระบบ โดยกำหนดกิจกรรมและเป้าหมายของการพัฒนาไว้ในรูปแบบของแผนปฏิบัติการ (Action Plan)  
   2. ขั้นปฏิบัติ (Action)  เป็นการนำแผนปฏิบัติการที่ได้จากการวางแผนร่วมกันของผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามาสู่การดำเนินการ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาระบบงานห้องสมุดโดยเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า ผู้ให้ข้อมูลและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ  จะได้เป็นข้อมูลย้อนกลับว่าแผนที่วางไว้  นำมาดำเนินการแล้วมีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน เพื่อให้ทราบ เข้าใจ และปฏิบัติในแนวทางเดียวกันทั้ง 5 ขั้นตอน  โดยให้ครอบคลุมขอบข่ายงานบริการของห้องสมุด 8 ด้าน และการนิเทศภายใน  ตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ โดยใช้กลยุทธ์ ดังนี้
          2.1 การประชุมเชิงปฏิบัติการ  จัดประชุม โดยการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าและบุคลากรในห้องสมุด ในการใช้โปรแกรมระบบงานห้องสมุด เพื่อเป็นการให้ความรู้ ในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศ ทั้ง 5 ขั้นตอน โดยให้ครอบคลุมขอบข่ายงานบริการห้องสมุดประชาชน  8 ด้าน 
         2.2 การนิเทศภายใน เพื่อให้กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความมั่นใจในการปฏิบัติงานดูแลรักษาตรวจสอบระบบโดยให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ความช่วยเหลือเมื่อพบปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน
   3. ขั้นสังเกต (Observation)  เป็นการสังเกตผลการปฏิบัติหรือการเก็บรวบรวมข้อมูล (Collecting Data) หรือการเก็บรวบรวมหลักฐาน (Collecting Evidence)  ของกลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า โดยอาศัยเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบบันทึกการประชุม  แบบสัมภาษณ์  แบบประเมินผู้เชี่ยวชาญ  แบบประเมินผู้ใช้ระบบ และแบบสอบถามความพึงพอใจผู้ใช้บริการในระหว่างการดำเนินงานของกลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าดำเนินการและพัฒนาให้เหมาะสม ซึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลจะกระทำควบคู่ไปกับขั้นตอนการปฏิบัติงานตามแผน (Action Plan) เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการสะท้อนผล  ข้อมูลที่ได้จะนำมาทำการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation) เพื่อนำไปสนับสนุนข้อสรุปที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนงาน
   4. ขั้นการสะท้อนผล (Reflection)  ขั้นตอนนี้  ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล และผลสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ การนิเทศภายใน โดยการวิเคราะห์และตรวจสอบคุณภาพ ใช้เทคนิคเชิงคุณภาพยึดหลักสามเส้าหรือหลายมิติ(Triangulation) เพื่อสรุปผล
การพัฒนาและหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขต่อไป
            เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
               เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำแนกดังนี้
                 1. แบบบันทึกการประชุม  ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลในการประชุม 2 ครั้ง คือ การศึกษาระบบ และการวิเคราะห์ระบบ เพื่อเป็นข้อมูลสารสนเทศในการศึกษา  ซึ่งได้ข้อมูลจากกลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าและกลุ่มผู้ให้ข้อมูล
                 2. แบบสัมภาษณ์  ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลสภาพปัจจุบันและปัญหาของระบบงานบริการความรู้ ความเข้าใจในการใช้ระบบ แนวทางการพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดการดำเนินงานพัฒนาระบบ เพื่อให้ระบบสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้งานตามความต้องการได้สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ตลอดจนการดูแลรักษาและตรวจสอบระบบ หลังจากพัฒนาและใช้ระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชน 8 ด้าน
                 3. แบบประเมิน  ใช้ประเมินประสิทธิภาพระบบงานบริการห้องสมุดประชาชน 8 ด้าน หลังจากการออกแบบระบบงานบริการห้องสมุด และใช้ประเมินคู่มือการปฎิบัติงานบริการห้องสมุด เพื่อประเมินความเหมาะสมของคู่มือการปฏิบัติงานบริการห้องสมุด ซึ่งเป็นแบบประเมิน 5 ระดับ
                 4. แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการห้องสมุด ใช้ประเมินความพึงพอใจในประสิทธิภาพงานบริการห้องสมุดประชาชน ด้านความสะดวก ความรวดเร็ว ถูกต้องเป็นปัจจุบัน
                 5. แบบสังเกต ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนและหลังการพัฒนาระบบงานห้องสมุด เพื่อหาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและแนวทางแก้ไขระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ  
          การวิเคราะห์ข้อมูล
       
     การตรวจสอบข้อมูลยึดหลักการตรวจสอบข้อมูลสามเส้า(Triangulation) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าโดยการพรรณนา

 ผลการศึกษาค้นคว้า

           การพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ  ผู้ศึกษาค้นคว้า สรุปผลดังนี้              
                ก่อนดำเนินการพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ  ยังไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูล การเก็บข้อมูลยังใช้รูปแบบของการบันทึกลงเอกสาร เวลายืม-คืน หรือสืบค้นทำได้ช้า และไม่สามารถบอกได้ว่าหนังสือ สื่อวัสดุที่ต้องการยังอยู่ในห้องสมุดหรือมีการถูกยืมออกไปแล้ว การดำเนินงานห้องสมุดไม่มีขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานห้องสมุดที่ชัดเจน ไม่มีคู่มือปฏิบัติงานห้องสมุด ห้องสมุดมีอากาศถ่ายเทได้ไม่สะดวก การดำเนินงานห้องสมุดเป็นไปตามแผนงานโครงการที่กำหนดในแต่ละปี จึงทำให้ผู้ใช้บริการมาใช้บริการห้องสมุดน้อย ซึ่งผู้ศึกษาค้นคว้าและกลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า  ได้สรุปผลการวิเคราะห์การดำเนินงานดังนี้  1) การปฏิบัติงานยืม-คืนหนังสือ สื่อใช้วิธีการดั่งเดิมคือการบันทึกลงในสมุดเมื่อมีผู้ยืมเป็นจำนวนมากจะใช้เวลาในการค้นหารายชื่อเวลานำส่งหนังสือมาก ยิ่งมีผู้คืนหนังสือพร้อมๆ กันหลายๆ คน ยิ่งเสียเวลามาก ข้อมูลหนังสือ เก็บบันทึกในสมุดทะเบียนหนังสือ เวลาสืบค้นใช้เวลามาก  2) งานบริการห้องสมุดไม่มีความคล่องตัว ไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ทำให้ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการไม่เต็มที่  3) เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดขาดความรู้ ความเข้าใจและทักษะงานห้องสมุดมีเวลาให้กับงานห้องสมุดน้อย  4) การบริการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ขาดงบประมาณการสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้บริการในห้องสมุดมีน้อย จำนวนไม่เพียงพอในการบริการ การบริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีเพียงอินเตอร์เน็ตความเร็วต่ำ ซึ่งต้องใช้เวลามากในการดาวน์โหลดข้อมูลและการสืบค้นข้อมูล  
5) การบริการให้อ่านและสืบค้นจากสื่อความรู้หรือทรัพยากรสารนิเทศ  ขาดเครื่องเล่นวีดิทัศน์  โทรทัศน์ จำนวนไม่เพียงพอ และขาดสถานที่ให้บริการภายในห้องสมุด ปัญหาการจัดระบบหมวดหมู่ยังไม่คล่องตัว สืบค้นได้ช้า  6) การบริการแนะนำการใช้ห้องสมุด การที่ไม่มีเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ที่มีความรู้เฉพาะด้านโดยตรงทำให้ประสบปัญหาการวางแผนงานระบบรวมทั้งการให้บริการแนะนำที่ถูกต้อง 7) การบริการสมัครสมาชิกและทำบัตรสมาชิกห้องสมุด เป็นการบันทึกข้อมูลลงในทะเบียนสมาชิกห้องสมุด เวลาออกบัตรสมาชิกทำได้ช้า และเวลาค้นหาสมาชิกห้องสมุดได้ช้าข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน  และ 8) การบริการค้นคว้าและตอบคำถาม หนังสือ สื่อที่ให้บริการมีน้อยและไม่มีความหลากหลาย และบางส่วนเป็นหนังสือเก่า มีการจัดเรียงหนังสือสื่อวัสดุสารนิเทศไม่เป็นหมวดหมู่ หนังสือ สื่อ กระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ การค้นหาหนังสือสื่อยาก ไม่สะดวกในการค้นหา
               หลังจากการพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ โดยการใช้กลยุทธ์  การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน  พบว่า ห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า มีระบบงานบริการที่มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการด้านการยืม การคืน การสืบค้น และการทำบัตรสมาชิกห้องสมุดที่สะดวก รวดเร็ว ถูกต้องเป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับการพัฒนาระบบงานบริการห้องสมุดต้องดำเนินการจัดระบบงานให้ถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการบริการและการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ถึงความจำเป็นและต้องการใช้ในการบริหารงานห้องสมุด โดยเฉพาะการจัดหาหนังสือ สื่อสารนิเทศ สื่อความรู้ หรือวัสดุในห้องสมุดเพื่อนำมาสนับสนุนการบริการของห้องสมุดประชาชน ตามความต้องการผู้ใช้บริการและผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด  การพัฒนาทำให้ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าเกิดทักษะและความชำนาญในการใช้โปรแกรมระบบงานบริการห้องสมุด การจัดเก็บข้อมูล และสามารถแก้ปัญหาเมื่อคอมพิวเตอร์เกิดความผิดพลาด ทำให้ระบบงานบริการห้องสมุดมีการประเมินผลที่สะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว
เป็นปัจจุบัน ง่ายต่อการสืบค้นและเรียกใช้ได้ทันเวลา สามารถนำมาวิเคราะห์ ตัดสินใจพัฒนาคุณภาพการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จากการประเมินสภาพการให้บริการของห้องสมุดประชาชน ผู้ใช้บริการเห็นว่าระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชนมีประสิทธิภาพ โดยระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้ระบบ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  คู่มือการปฏิบัติงานบริการห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก  ส่วนผู้ใช้บริการห้องสมุดมีความพึงพอใจต่องานบริการห้องสมุด โดยรวมอยู่ในระดับมาก

 อภิปรายผล

       การพัฒนาระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ โดยใช้กระบวนการพัฒนาระบบ 5 ขั้นตอน  ในการศึกษาครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจนำมาอภิปรายผลดังนี้
       ผลการพัฒนาระบบงานบริการของห้องสมุด โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการการนิเทศภายในและการพัฒนาโปรแกรมระบบงานห้องสมุดนั้น ส่งผลให้กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงานให้บริการได้อย่างสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า ทั้ง 8 ด้าน มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขั้นตอนการทำงานประหยัดเวลา และได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ ลดาวัลย์ ไวแสน (2551 : 73-104) พบว่า การใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ทำให้รู้สภาพปัจจุบันบัญหาและมีการระดมความคิดเห็น การพัฒนาด้านโปรแกรมระบบงานบริการห้องสมุด ทำให้การดำเนินงานระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สะดวก ถูกต้อง ประหยัดเวลา และการพัฒนาระบบงานห้องสมุดจะต้องมีกิจกรรมที่สามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับผลการศึกษาของ นพลักษณ์  ทองศาสตรา (2551 : 67-83) พบว่า ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดประชาชนมีปัญหาการดำเนินงานห้องสมุดด้านการบริหาร งานเทคนิค และงานบริการ สอดคล้องกับผลการศึกษาของ วชิรา กันธิยะ (2550 : 44-57) พบว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ต้องการให้บุคลากรบริการด้านความสะดวก รวดเร็วและให้คำปรึกษาแนะนำให้ห้องสมุดจัดบริการทางอินเตอร์เน็ต และบริการยืม-คืนโดยใช้คอมพิวเตอร์  สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ลั่นทม ดวงเนตร (2551 : 83–86)  พบว่า การใช้กลยุทธ์การประชุมแบบมีส่วนร่วม และการอบรมเชิงปฏิบัติการ ส่งผลให้กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า มีความรู้ความเข้าใจในการให้บริการอยู่ในระดับดีมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานได้อย่างดียิ่ง ทำให้นักเรียนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดเพิ่มขึ้น
อีกทั้งมีความพึงพอใจที่ได้ห้องสมุดดีขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำไปใช้งาน สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ณัฐกาญจน์ ชาวสวน (2551 : 132-136) พบว่า การพัฒนาระบบงานห้องสมุด โดยใช้กลยุทธ์การประชุมแบบมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ตามกรอบงานพัฒนาระบบทำให้งานบริการห้องสมุดเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงาน  ช่วยให้การปฏิบัติงานห้องสมุดเป็นไปด้วยความสมบูรณ์ ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เป็นที่พึงพอใจของผู้รับบริการสอดคล้องกับผลการศึกษาของ สำเริง จรเอ้กา (2551 : 105-152) พบว่า การจัดบริการห้องสมุดโดยการจัดทำระบบห้องสมุดและการฝึกงานนักเรียนช่วยงานห้องสมุด ทำให้มีแหล่งสืบค้นข้อมูลสารสนเทศมากขึ้น การบริการสะดวก รวดเร็วเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการ และการฝึกงานนักเรียนช่วยงานห้องสมุด ช่วยทำให้แบ่งเบาภาระงานเจ้าหน้าที่ห้องสมุด และนักเรียนได้รู้จักหนังสือและห้องสมุดมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ประสิทธิชัย เลิศรัตนเคหกาล (2552 : 87-112)  พบว่า โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติโอเพ่นบิปริโอ  เป็นโปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับห้องสมุดขนาดกลาง  ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรสารสนเทศและการบริการผู้ใช้ในการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศและบริการยืม คืน ได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับผลการศึกษาของ พัฐชญาณ์ กลับกลาง (2552 : 44-100) พบว่า ระบบอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ และจำนวนบุคลากรที่เพียงพอเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อวิธีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศของบรรณารักษ์มากที่สุด สอดคล้องกับผลการศึกษาของประสงค์ วงค์นาค (2551 : 38-66) พบว่าระบบการบริการห้องสมุดโรงเรียน เป็นโปรแกรม
มีความสะดวก ใช้งานง่าย สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยุ่งยากของระบบเดิมเป็นอย่างดี และช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่เคยปฏิบัติอยู่เป็นประจำ อีกทั้งการออกแบบรายงานต่างๆ และการประมวลผลมีความถูกต้องและรวดเร็ว  ทำให้ทั้งสมาชิกห้องสมุดและบรรณารักษ์มีความพึงพอใจกับระบบอยู่ในเกณฑ์ดีมาก  สอดคล้องกับผลการวิจัยของ โอลิเวอร์ (Oliver.  2004 : 4343-A) พบว่า การมีส่วนร่วมช่วยครูผู้สอนโดยการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน  โดยการแนะนำการค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตและการเผยแพร่นำเสนองานของนักเรียน การใช้ซอฟแวร์ในการผลิตสื่อ และการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในชั้นเรียน ครูส่วนใหญ่ให้การยอมรับในความชำนาญในด้านการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยมีการนำแนวคิดต่างๆ และการวางแผนในการบูรณาการเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียนได้อย่างกว้างขวาง
          จากการใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาระบบงานบริการของห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สามารถอภิปรายผล ดังนี้
           1. การใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ศึกษาค้นคว้าและผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า ได้ทราบถึงสภาพปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยการปฏิบัติจริงทำให้แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด ได้แนวทางทางการพัฒนาระบบและความต้องการของผู้ใช้ระบบ และได้คู่มือการใช้ระบบงานบริการของห้องสมุดที่มีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า เมื่อกลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าได้ร่วมปรึกษาหารือกันภายในกลุ่ม ได้ทราบถึงสภาพปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยการปฏิบัติจริง ทำให้แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด ได้ฝึกปฏิบัติจริง ทำให้กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะ ประสบการณ์ในการใช้โปรแกรมระบบงานบริการของห้องสมุดได้อย่างถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว เป็นปัจจุบัน ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจ ซึ่งสอดคล้องกับ วิชชุดา หุ่นวิไล (2542 : 239) กล่าวว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการช่วยให้ระบบวิธีการปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น  ทำให้เกิดการประหยัด ด้านวัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณ ทำให้ลดเวลาในการเรียนงานน้อยลง และสอดคล้องกับสมคิด บางโม (2545 : 174)  กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นการประชุมที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับประสบการณ์และสามารถนำประสบการณ์และสามารถนำประสบการณ์ที่ได้ไปใช้หรือมุ่งสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจ สามารถใช้ห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการประชุมเชิงปฏิบัติการ จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาระบบงานบริการของห้องสมุด
            2. การใช้กลยุทธ์การนิเทศภายใน เป็นวิธีการพัฒนาระบบงานบริการของห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ร่วมศึกษาได้รับการนิเทศ ในกระบวนการนิเทศ  ชี้แนะ แนะนำเชิงอธิบาย และผลจากการกำกับ ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานบริการห้องสมุดประชาชนทั้ง 8 ด้าน พบว่า กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ ความเข้าใจ เกิดทักษะและความชำนาญ ตลอดจนมีความคิดสร้างสรรค์ในขั้นตอนระบบงานบริการ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วลดขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินการ ทำให้การบริการเป็นที่น่าพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการห้องสมุดประชาชนมากขึ้น  ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า มีความกระตือรือร้นให้ความร่วมมือในการพัฒนาการดำเนินงานห้องสมุดประชาชนได้เป็นอย่างดี สามารถนำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายมาพัฒนาได้ดี  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า ได้รับการช่วยเหลือแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรด้านการใช้โปรแกรมระบบงานบริการของห้องสมุด ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถใช้ระบบและนำระบบใหม่ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการและใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ อันเดอร์วูด (Underwood.  2004 : 1580-A) พบว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อห้องสมุดที่มีประสิทธิภาพ สามารถเป็นจุดศูนย์กลางให้โรงเรียนและสามารถเป็นจุดศูนย์กลางที่จะนำไปสู่ความชำนาญด้านเทคโนโลยี การวางแผนร่วมกัน และสอดคล้องกับหลักการนิเทศที่ ปาน กิมปี (2543 : 32) กล่าวไว้ว่า การนิเทศเป็นกระบวนการแนะนำให้คำปรึกษา การชี้แนะ และการปฏิบัติงานให้เกิดการมีส่วนร่วมกับผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร ผู้สอน อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมการศึกษาเกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น 

 ข้อเสนอแนะ

     1. ข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปใช้
   
     1.1 บุคลากรของห้องสมุดประชาชนควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยในด้านเทคโนโลยี
         1.2 การพัฒนาระบบงานห้องสมุดควรมีกิจกรรมที่สามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพราะระบบงานแต่ละงานควรต้องได้รับการปรับปรุง แก้ไขพัฒนาเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานอยู่เสมอ
         1.3 การจัดประชุมชี้แจงการใช้คอมพิวเตอร์ วิทยากรที่ให้การอบรม ควรมีความเชี่ยวชาญในด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะทำให้กลุ่มผู้ร่วมศึกษามีความรู้ ความเข้าใจในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการในห้องสมุดมากขึ้น
         1.4 ผู้บริหารควรมีการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาระบบงานห้องสมุดและนำผลการประเมินมาวางแผนเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป
     2. ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาค้นคว้าครั้งต่อไป    
         2.1 ควรพัฒนาโปรแกรมระบบงานห้องสมุดให้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ทุกระบบปฏิบัติการทุกรุ่นและทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
         2.2 ควรมีการศึกษารูปแบบการจัดทำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ เพื่อใช้ในการให้บริการในห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพ
         2.3 ควรมีการศึกษารูปแบบในการพัฒนาระบบงานห้องสมุดประชาชนตามเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

 เอกสารอ้างอิง 

กรมการศึกษานอกโรงเรียน.  (2545).  รูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยโดยห้องสมุดประชาชน.  กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมการศึกษา
          ตามอัธยาศัย.
ณัฐกาญจน์ ชาวสวน.  (2551).  การพัฒนาระบบงานห้องสมุด โรงเรียนเทศบาล 6 ไลออนส์อุทิศ อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี. 
          การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.
นพลักษณ์ ทองศาสตรา.  (2551).  การดำเนินงานห้องสมุดประชาชนในสังกัดกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม., มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 
          กรุงเทพฯ.
ประวิต เอราวรรณ์.  (2545).  การวิจัยปฏิบัติการ.  กรุงเทพฯ : ดอกหญ้าวิชาการ.
ประสงค์ วงค์นาค.  (2551).  การพัฒนาระบบบริการห้องสมุดโรงเรียน สำหรับโรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) อำเภอเมืองเชียงราย. 
          การค้นคว้าแบบอิสระ วท.ม., มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.
ประสิทธิชัย เลิศรัตนเคหกาล.  (2552).  การพัฒนาโปแกรมรหัสเปิดระบบห้องสมุดอัตโนมัติ “OpenBiblio” สำหรับหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก 
          เชียงใหม่. 
การค้นคว้าแบบอิสระ ศศ.ม., มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.
ปาน กิมปี.  (2543).  รายงานการวิจัยเรื่องการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการนิเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เต็มศักยภาพ.  กรุงเทพฯ : อัดสำเนา.
พัฐชญาณ์ กลับกลาง.  (2552).  วิธีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ(Best Practices) ของบรรณารักษ์วิเคราะห์หมวดหมู่และทำรายการทรัพยากร
          สารสนเทศในห้องสมุดมหาวิทยาลัยราชภัฏ
.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ  ศศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.
มาลี พิญญศักดิ์.  (2546).  การพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อใช้ในงานบริหารศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร.  วิทยานิพนธ์  
          กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.
ลดาวัลย์ ไวแสน.  (2551).   การพัฒนาระบบงานบริการและกิจกรรมห้องสมุดประชาชนเทศบาลตำบลนาคู  อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์. 
          การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.
ลั่นทม ดวงเนตร.  (2551).  การพัฒนาการดำเนินงานห้องสมุดโรงเรียนบ้านยางขี้นกอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ
          กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.
วชิรา กันธิยะ.  (2550).  ความต้องการของผู้ใช้บริการห้องสมุดประชาชนเชียงใหม่.  การค้นคว้าแบบอิสระ ศษ.ม., มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,
          เชียงใหม่.
วิชชุดา หุ่นวิไล.  (2542).  การบริหารบุคลากรทางการศึกษา.  กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา.  
ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย.  (2545).  รูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยโดยห้องสมุดประชาชน.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รังสีการพิมพ์.
สมคิด บางโม.  (2545).  เทคนิคการฝึกอบรมและการประชุม (พิมพ์ครั้งที่ 2).  กรุงเทพฯ : นำอักษร.
สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน.  (2547).  แนวทางการพัฒนาห้องสมุดประชาชนให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิตตาม ม.25
          นนทบุรี : สหพริ้นติ้ง.
สำเริง จรเอ้กา.  (2551).  การพัฒนางานบริการห้องสมุด โรงเรียนบ้านโคกไม้แดงหัวกระสังอำเภอปะคำ  จังหวัดบุรีรัมย์.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ
          กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.   
สุดใจ วราห์สิน.  (2550).  การพัฒนาการดำเนินงานบริการห้องสมุดประชาชนจังหวัดยโสธร.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม.,
          มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.
Kemis, Stephen and Robin McTaggart.  (1988).  The Research Planner  (3rd ed). Victoria : Deakin University Press.
Oliver, Sheila Quinn.  (2004).  “The Role of the School Library Medai Specialist in the Integration of  Computer Technology in
          the High School Curriculum,” Dissertation Abstracts International.  61(12) : 4343-A .
Underwood, Linda Jean.  (2004).  “A Case Study of Four school Library Media Specialists Leadership in Louisiana,” Dissertation
         Abstracts International.
  65(05) : 1580 - A.

 

 


[1] นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

[2] ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านครบุรีนครธรรมโฆสิตวิทยาคาร อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

[3] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

view

 หน้าแรก

 บทความ

กระดานสนทนา

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view