http://boonrod1.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

กระดานสนทนา

 ทำเนียบป.โท รุ่น 7

 รวมรูปภาพ

กลุ่มกศ.นอกระบบ กศน.ชัยภูมิ

 ติดต่อเรา

บริการ

ผลงานวิชาการ

บทความ กศน.

เกร็ดความรู้

กฎ ระเบียบ

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

สถิติ

เปิดเว็บ05/05/2010
อัพเดท30/11/2018
ผู้เข้าชม90,702
เปิดเพจ115,782
iGetWeb.com
AdsOne.com

การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา

การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา

ชื่องานวิจัย      การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา
ชื่อผู้วิจัย         นายบุญรอด  แสงสว่าง 
ชื่อหน่วยงาน    ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย      
ปีที่วิจัย           พ.ศ.2559

บทคัดย่อ

          การวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้  โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของ เคมมิส และแม็กแท็กการ์ท  (Kemmis and McTaggart)  ดำเนินการ 2 วงรอบ แต่ละวงรอบ  ประกอบด้วย  การวางแผน (Planning)  การปฏิบัติ (Action)  การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย 14 คน ได้แก่ ผู้วิจัย  จำนวน 1 คน  และกลุ่มเป้าหมาย  จำนวน 13 คน   ประกอบด้วย  ข้าราชการครู 3 คน  และนักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา 10 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 162 คน ประกอบด้วย วิทยากร 1 คน  ผู้อำนวยการสถานศึกษา  1 คน และผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 160 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง  (Purposive Sampling)    เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ  แบบทดสอบ แบบบันทึก แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน และแบบสอบถาม  การตรวจสอบข้อมูล ใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation Technique)  การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา แล้วนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive  Analysis)
          ผลการวิจัย  พบว่า การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ผลจากการศึกษาดูงาน พบว่า กลุ่มเป้าหมายได้ศึกษาตัวอย่างกิจกรรมวิทยาศาสตร์ สื่อ นิทรรศการฐานการเรียนรู้ต่างๆ พร้อมได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมสะเต็มศึกษา และร่วมกันสรุปผลจากการศึกษาดูงานได้ว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาได้ ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมที่เหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก กลุ่มเป้าหมายมีความสนใจในการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ  มีเจตคติที่ดีต่อการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ  มีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น มีการนำข้อเสนอแนะให้ผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้รับทราบ และมีความตั้งใจที่จะนำผลการประชุมเชิงปฏิบัติการไปใช้ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  จากการทดสอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  และการสัมภาษณ์  พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกคน และจากการประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  มีองค์ประกอบของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครบถ้วน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้  มีความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้  ผลจากการนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยรวมอยู่ในระดับมาก และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่ยังมีปัญหาบางกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอน  ยังไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้เหมาะสมเท่าที่ควร   การดำเนินกิจกรรมยังไม่ต่อเนื่อง บางกิจกรรมมีการพัฒนาดีขึ้น แต่บางกิจกรรมยังติดขัดไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร  และการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ยังไม่หลากหลาย การเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่การนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ยังมีส่วนที่บกพร่องอยู่บ้าง จึงต้องพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศภายใน มีการนิเทศ กำกับ ติดตาม โดยเน้นแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย ในวงรอบที่ 1 โดยกลุ่มผู้ร่วมวิจัย ได้ร่วมกันหาวิธีการปรับปรุงพัฒนาและคอยให้คำปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด  ช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม   โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกคน  และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
               สรุปได้ว่า  การศึกษาดูงาน  การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน เป็นกลยุทธ์และกิจกรรมที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 บทนำ

          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 4  ได้กล่าวถึง  “การศึกษา” หมายถึง  กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้  การฝึกอบรม  การสืบสานทางวัฒนธรรม  การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ  การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม  สังคมการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต    และมาตรา 22  กำหนดไว้ว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้  และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษายึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ เน้นการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ให้ความสำคัญของการบูรณาการความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ตามความเหมาะสมของระดับการศึกษาโดยเฉพาะความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์เรื่องการจัดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน  (สมจิต  สวธนไพบูลย์ และคณะ.  2550 : 1-2)
          การจัดการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เน้นกระบวนการที่นักเรียนเป็นผู้คิด ลงมือปฏิบัติ ศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ ด้วยกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการทำกิจกรรมภาคสนาม การสังเกต การสำรวจ ตรวจสอบ การทดลองในห้องปฏิบัติการ การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูล ปฐมภูมิและทุติยภูมิ การทำโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  การศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยคำนึงถึงวุฒิภาวะ ประสบการณ์เดิมสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่นักเรียนได้รับรู้มาแล้วก่อนเข้าสู่ห้องเรียน การเรียนรู้ของนักเรียนจะเกิดขึ้นระหว่างที่นักเรียนมีส่วนร่วมโดยตรง  ในการทำกิจกรรมการเรียนเหล่านั้น จึงจะมีความสามารถในการสืบเสาะหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นแนวคิดที่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิดอย่างอิสระเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุด กระทรวงศึกษาธิการได้สรุปเชิงหลักการไว้ว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เอาชีวิตจริงและเงื่อนไขการรับรู้ของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ผู้เรียนมีอิสรภาพได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ทั้งจิตใจ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ผู้เรียนได้รับการพัฒนาแบบองค์รวม ได้รับการฝึกให้มีศักยภาพในการสร้างรูปแบบการคิด ผู้เรียนเป็นผู้กระทำกิจกรรมการเรียนรู้ได้ถูกต้องแม่นยำตามธรรมชาติของวิชา ด้วยความรู้สึกที่ดีงามอันเป็นการสร้างบุคลิกที่ดีงาม คิดเป็นระบบและวิจารณญาณ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไม่ใช่วิธีการเรียนรู้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งแต่เป็นกระบวนทัศน์ในการจัดการเรียนรู้ (Learning Paradigm)  ซึ่งเอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง โดยใช้ทักษะการจัดการที่มีประสิทธิภาพทั้งของครูและนักเรียน (สุภรณ์  สภาพงศ์.  2545 : 31-32)
            สภาพปัจจุบันการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  จากการรายงานผลการประเมินตนเอง (SAR) ของสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2558  พบว่า บุคลากรโดยเฉพาะนักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา ส่วนใหญ่มีวุฒิปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) และไม่มีวุฒิทางด้านการศึกษา  จึงทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการนำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ลงสู่การปฏิบัติ  ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาโดยให้สถานศึกษาพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และจากรายงานการประเมินคุณภาพสถานศึกษาโดยต้นสังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา เมื่อวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2558  พบว่า ผลการประเมินในภาพรวมมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 90.32  มีระดับคุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับดีมาก  แต่ได้มีข้อเสนอแนะในการพัฒนาสถานศึกษา ดังนี้ สถานศึกษาควรพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตร การจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ  
            จากเหตุผลดังกล่าวดังกล่าว ผู้วิจัยในฐานะที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้เต็มตามศักยภาพในด้านการแสวงหาความรู้กระบวนการทำงาน ทักษะต่างๆ และยังได้ฝึกลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์หลายๆ ด้าน แทนที่จะเน้นด้านความรู้เพียงด้านเดียว เป็นกิจกรรมการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีการปฏิบัติจริงในลักษณะของการศึกษา สำรวจ ทดลอง ค้นคว้า ประดิษฐ์ คิดค้น โดยมีครูผู้สอนคอยกระตุ้นแนะนำและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผู้เรียนได้นำความรู้ไปบูรณาการกับกิจกรรมที่จะทำเพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ด้วยการสร้างความหมาย การแก้ปัญหาและการค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง ได้ศึกษาสภาพปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูผู้สอน ประกอบกับหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงเห็นว่าการพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาสถานศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยมุ่งหวังเพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ค่ายวิทยาศาสตร์ของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งหวังเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้  เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติตามหลักสูตรของสถานศึกษา และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545   ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของบุคลากรให้เป็นไปอย่างมีระบบ เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนและจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป

 ความมุ่งหมายของการวิจัย

           ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดความมุ่งหมายของการวิจัย ไว้ดังนี้
               1.  เพื่อพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   
               2.  เพื่อพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  ให้สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้
               3.  เพื่อพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้

กลุ่มเป้าหมายของการวิจัย
          การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  ผู้วิจัยกำหนดกลุ่มเป้าหมายดังนี้
          1.  กลุ่มผู้ร่วมวิจัย   จำนวน  14  คน  ประกอบด้วย
               1.1  ผู้วิจัย  ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา
               1.2  กลุ่มเป้าหมายและผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 13 คน ประกอบด้วย ข้าราชการครู 3  คน นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา 10  คน
          2.  กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการวิจัย   จำนวน  162 คน  ประกอบด้วย วิทยากร 1  คน  ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1  คน และผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 จำนวน 160 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง  (Purposive Sampling) 

 วิธีดำเนินการวิจัย
          ในการวิจัยครั้งนี้ ใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของ เคมมิส และแม็กแท็กการ์ท    (Kemmis and McTaggart. 1988 : 11-15 ; อ้างถึงใน พินันทร์  คงคาเพชร. 2552 : 41) ประกอบด้วย  4  ขั้นตอน   ดังนี้  ขั้นการวางแผน (Planning)   ขั้นการปฏิบัติ (Action) ขั้นการสังเกต (Observation)  และขั้นการสะท้อนผล (Reflection)  ให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้  

          1.  ขั้นการวางแผน  (Planning) 
               1.1  ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ว่ามีปัญหาและสาเหตุมาจากสิ่งใดบ้าง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ร่วมกันเป็นข้อมูลพื้นฐาน ใช้เป็นแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ  
               1.2  เป้าหมายและกลยุทธ์การพัฒนา   เพื่อให้การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  บรรลุผลตามเป้าหมาย คือ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้  กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา ดังนี้  การศึกษาดูงาน   การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน   
               1.3  กำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการดำเนินการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  โดยระบุกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ เป้าหมายของแต่ละกิจกรรม ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม  ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรม วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล แหล่งข้อมูล 

           2.  ขั้นการปฏิบัติ (Action)  
               กลุ่มผู้ร่วมวิจัย  ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ  (Action Pan)  เพื่อพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ดังนี้
                   2.1  การศึกษาดูงาน  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 14 มีนาคม 2559                      
                   2.2  การประชุมเชิงปฏิบัติการ  ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ  จำนวน  2  วัน ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2559  ณ ห้องประชุมจันทร์ประดับ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ได้เชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย พร้อมฝึกปฏิบัติกิจกรรมตามขั้นตอนการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
                   2.3  การนิเทศภายใน  การนำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สู่การปฏิบัติ   โดยกิจกรรมการประชุมกลุ่ม การติดตามช่วยเหลือ โดยผู้วิจัยเป็นผู้นิเทศคอยให้คำปรึกษา แนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

           3.  ขั้นการสังเกตผล  (Observation)  
                    กิจกรรมการศึกษาดูงาน  เก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสังเกต การสัมภาษณ์ และการบันทึกสรุปผลการศึกษาดูงาน  กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการทดสอบก่อนและหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสังเกตพฤติกรรม และสัมภาษณ์และประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  และกิจกรรมการนิเทศภายใน เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์  แบบสังเกต แบบสอบถามความพึงพอใจ และแบบประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 

          4.  การสะท้อนผล (Reflection)   
               ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ โดยผลการสัมภาษณ์ผู้เรียน  การประชุมปรึกษาหารือผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เพื่อสรุปผลการดำเนินการแต่ละขั้นตอนการดำเนินการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 

 

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล 

          1.  แบบทดสอบ จำนวน 1 ฉบับ  ใช้ทดสอบความรู้ก่อนและหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          2.  แบบบันทึก จำนวน 1 ฉบับ  ใช้บันทึกสรุปผลและอภิปรายผลจากการศึกษาดูงานของกลุ่มเป้าหมาย 
          3.  แบบสังเกต จำนวน  3  ฉบับ  ได้แก่  ฉบับที่ 1 ใช้สังเกตพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ระหว่างการศึกษาดูงาน ฉบับที่ 2  ใช้สังเกตพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายขณะประชุมเชิงปฏิบัติการและ ฉบับที่  3  ใช้สังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย  ในระหว่างการนิเทศภายใน
          4.  แบบสัมภาษณ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่  ฉบับที่ 1 เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างใช้สัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายหลังจากการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์   ฉบับที่  2  เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง  ใช้สัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ 
          5.  แบบประเมิน จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 ใช้ประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  ฉบับที่ 2  ใช้ประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 
          6.  แบบสอบถาม  จำนวน 1 ฉบับ ใช้สอบถามความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย 

สรุปผล

       การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ผู้วิจัยดำเนินการพัฒนาโดยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)   ตามแนวคิดของ เคมมิส และแม็กแท็กการ์ท  (Kemmis and McTaggart) กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ การศึกษาดูงาน  การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ดำเนินการพัฒนาเป็น 2 วงรอบ สรุปผลการพัฒนาได้ดังนี้
         การพัฒนาในวงรอบที่  1  โดยใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน  การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน  ผลจากการศึกษาดูงาน  พบว่า  กลุ่มเป้าหมายได้ศึกษาตัวอย่างกิจกรรมวิทยาศาสตร์  สื่อ นิทรรศการฐานการเรียนรู้ต่างๆ พร้อมได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมบูรณาการทางวิทยาศาสตร์  กิจกรรมสะเต็มศึกษา  และร่วมกันสรุปผลจากการศึกษาดูงานได้ว่า สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาได้ และมีข้อเสนอให้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์  จัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ   พบว่า  กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมที่เหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก  กลุ่มเป้าหมายมีความสนใจในการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีเจตคติที่ดีต่อการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ  มีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น  มีการนำข้อเสนอแนะให้ผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้รับทราบ  และมีความตั้งใจที่จะนำผลการประชุมเชิงปฏิบัติการไปใช้ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  จากการทดสอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการสัมภาษณ์  พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกคน   และจากการประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์   พบว่า  แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  มีองค์ประกอบของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครบถ้วน  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ มีความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้  ผลจากการนิเทศภายใน  พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน  สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยรวมอยู่ในระดับมาก และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยรวมอยู่ในระดับมาก  แต่ยังมีปัญหาบางกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอน  ยังไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้เหมาะสมเท่าที่ควร  การดำเนินกิจกรรมยังไม่ต่อเนื่อง บางกิจกรรมมีการพัฒนาดีขึ้น แต่บางกิจกรรมยังติดขัดไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ยังไม่หลากหลาย  การเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีความถูกต้องเหมาะสม โดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่การนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ยังมีส่วนที่บกพร่องอยู่บ้าง  จึงต้องพัฒนาในวงรอบที่ 2 ต่อไป
               การพัฒนาในวงรอบที่ 2  โดยใช้กลยุทธ์ การนิเทศภายใน ใช้ในการพัฒนามีการนิเทศ กำกับ ติดตาม โดยเน้นแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย  ในวงรอบที่ 1  โดยกลุ่มผู้ร่วมวิจัยได้ร่วมกันหาวิธีการปรับปรุงพัฒนาและคอยให้คำปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด ช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกคน  และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

 

อภิปรายผล

           การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา  โดยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ การศึกษาดูงาน  การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน  ดำเนินการพัฒนาเป็น 2 วงรอบ เมื่อครบ 2 วงรอบแล้ว ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ น้ำเพชร  ทับชา (2557 : 83-84)  ได้ศึกษาการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนอนุบาลแกดำ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม ขต 1 โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพิ่มขึ้น  นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกิจกรรมการเรียนเป็นอย่างดี และมีความสุขในการเรียน ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น  กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทุกคนมีความพอใจในการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้และมีความสนใจ กระตือรือร้น มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเป็นอย่างดี สอดคล้องกับผลการวิจัยของ นงลักษณ์ นนตระอุดร (2555 : 159-165)  ได้ทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551โรงเรียนแวงพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 23 แนวทางการพัฒนาคือการประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายในและการนิเทศภายในแบบกัลยาณมิตร พบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ในระดับมากที่สุด  มีความสามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ในระดับมากที่สุด และกลุ่มผู้ร่วมวิจัยสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ในระดับมากที่สุด และพบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับผลการศึกษาของ จงกล ผลประสาท (2553 : 126-129)  ได้ศึกษาการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน  โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านยางวิทยา อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการ กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ การฝึกอบรม  การศึกษาดูงานนอกสถานที่ และการนิเทศ พบว่า บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ สอดคล้องกับผลการศึกษาของบุญเพ็ง ซุยถัง (2553 : 82-85) ได้ศึกษาพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแบบบูรณาการ โรงเรียนบ้านวังตาลาดสมบูรณ์ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศ พบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบบูรณาการ  สามารถเขียนแผนการเรียนรู้แบบบูรณการ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้ง 6 ขั้นตอนได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับผลการศึกษาของประดิษฐ์ บุญเรืองวัตร (2553 : 100-101) ได้ทำการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโรงเรียนบ้านเข็งมิตรภาพที่ 139  อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาบุคลากรคือ การศึกษาเอกสาร การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจ  และสามารถพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  สามารถเขียนแผนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้  สอดคล้องกับผลการวิจัยของ Sturtz (2008 : Unpaged) ได้ทำการวิจัยพัฒนาการปฏิบัติการสอนของครูและความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  พบว่า การสอนของครูมีการเตรียมแผนการสอน  มีการวางแผนการสอน การจัดกิจกรรมการสอนมีการเน้นกิจกรรมให้ผู้เรียนทำ มีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างครูและนักเรียน นอกจากนี้ครูยังมีการวางแผนสำหรับการเอาใจใส่นักเรียนมากขึ้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของ เกษมศักดิ์  ฆ้องลา  (2552 : 141-142) ได้ศึกษาพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนกุดบงพิทยาคาร  อำเภอโพนพิสัย  จังหวัดหนองคาย  โดยใช้กลยุทธ์ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน พบว่าครูมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ แก้ปัญหาการพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น  สอดคล้องกับผลการศึกษาของ อันทนา  เข็มพิมาย (2552 : 77-83)  ได้ศึกษาการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน  โรงเรียนบ้านคูเมือง  อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน การนิเทศภายใน  พบว่า ครูมีความรู้ความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน  ครูสามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานและนำแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานไปปฏิบัติการสอนได้  ทำให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
          จากการใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ในการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ให้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้วนั้น  สามารถอภิปรายผลได้ดังนี้     
              1.  จากการใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน   โดยมีการศึกษาดูตัวอย่างกิจกรรมวิทยาศาสตร์สื่อ นิทรรศการ ฐานการเรียนรู้ต่างๆ  พร้อมฝึกปฏิบัติกิจกรรมบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมสะเต็มศึกษา และร่วมกันสรุปผลจากการศึกษาดูงานได้ว่า จากการที่ได้ไปศึกษาดูงาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาได้  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า  การนำพาบุคลากรไปดูการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เห็นว่ามีผลการปฏิบัติงานดีเด่น เพื่อให้บุคลากรได้รับประสบการณ์ตรงเกิดทัศนคติในการปฏิบัติงานและนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานและพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มคุณภาพให้ดียิ่งขั้น นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการให้ขวัญกำลังใจแก่บุคลากร  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของสมจินตนา ภักศรีวงศ์ (2540 : 81)  ที่กล่าวไว้ว่า  การศึกษาดูงานเป็นกระบวนการทางการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มมวลประสบการณ์แก่บุคลากรในหน่วยงานให้ได้รับความรู้ความเข้าใจรับคำปรึกษาแนะนำ หรือวิธีการแนวทาง ตลอดจนรูปแบบต่างๆ ในการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพของตน และหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อการปรับปรุงพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรให้ได้มีสัมพันธภาพที่ดี ทั้งกับบุคคลในหน่วยงานเดียวกันและหน่วยงานอื่นๆ ทำให้เกิดวิสัยทัศน์กว้างไกล  มองเห็นแนวทางและวิธีการที่จะส่งเสริมงานให้มีคุณภาพมากขึ้น  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2540 : 102) ที่ระบุไว้ว่า การดูงานนอกสถานที่ไว้ว่าเป็นการพาบุคลากรไปทัศนศึกษาดูงานในหน่วยงานหรือองค์การต่างๆ ที่ปฏิบัติงานดีเด่นด้านใด ด้านหนึ่ง เพื่อให้บุคลากรเกิดวิสัยทัศน์  แนวคิดที่จะนำมาปรับปรุงมาพัฒนางานของตน นอกจากนี้การไปศึกษาดูงานยังช่วยให้บุคลากรเกิดความสัมพันธ์มีความรู้สึกที่ดีต่อกันเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและลดปัญหาความขัดแย้งในองค์การได้ด้วย  และสอดคล้องกับแนวคิดของ สมิต  สัชฌุกร (2543 : 45)  ที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาดูงาน  เป็นการการพาบุคลากรไปทัศนศึกษาดูงานในหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ปฏิบัติงานดีเด่น  ด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้บุคลากรเกิดวิสัยทัศน์ แนวคิดที่จะนำมาปรับปรุงและพัฒนางานของตน
               2.  จากการใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ  โดยกิจกรรมการบรรยายของวิทยากรและการฝึกปฏิบัติตามกิจกรรม  พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมที่เหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก  กลุ่มเป้าหมายมีความสนใจในการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีเจตคติที่ดีต่อการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น มีการนำข้อเสนอแนะให้ผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้รับทราบและมีความตั้งใจที่จะนำผลการประชุมเชิงปฏิบัติการไปใช้ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  จากการทดสอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการสัมภาษณ์  พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกคน และจากการประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  พบว่า แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  มีองค์ประกอบของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครบถ้วน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้  มีความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ ช่วยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ และได้ฝึกทักษะตามขั้นตอน กระบวนการทำงานที่ต้องกลับไปปฏิบัติจริงผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้ารับการอบรมด้วยกันจากวิทยากร ทำให้สามารถปรับปรุงการทำงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความมั่นใจที่จะนำความรู้ไปปฏิบัติจริง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วยกันและวิทยากร  และสร้างบรรยากาศในความร่วมมือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  และการประชุมเชิงปฏิบัติการ สามารถช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ทั้งด้านเนื้อหา  กิจกรรมการเรียนการสอน  สื่อการเรียน ปัญหาการเรียนการสอนต่างๆ และปรับปรุงคุณภาพการศึกษาตามที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวคิดของ สมคิด  บางโม (2545 : 92)    ที่กล่าวไว้ว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นการฝึกอบรมที่ให้ผู้รับการฝึกอบรมได้ปฏิบัติจริง โดยทั่วไปจะมีการบรรยายให้ความรู้พื้นฐานก่อนแล้วจึงลงมือปฏิบัติ  อาจเป็นการฝึกการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ประชุมเพื่อช่วยกันสร้างคู่มือหรือประชุมเพื่อสร้างอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น  การปฏิบัตินิยมให้รวมกันเป็นกลุ่มย่อยๆ มากกว่าปฏิบัติเป็นกลุ่มใหญ่หรือรายบุคคล สอดคล้องกับแนวคิดของ สมิต  สัชฌุกร  (2543 : 16-18)  ที่กล่าวไว้ว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการมีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานร่วมกันเป็นทีม  การแสวงหาความร่วมมือและความรับผิดชอบของบรรดาสมาชิก  ประโยชน์ที่สำคัญช่วยให้การทำงานทางความคิดร่วมกันช่วยให้เกิดความรับผิดชอบ ผูกพันระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมและแบ่งเบาภาระรับผิดชอบช่วยให้มีความรอบคอบในการตัดสินใจ ช่วยให้การรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมีความกว้างขวางครอบคลุม ช่วยในการประสานงาน ประสานความคิดเห็น และความเข้าใจช่วยให้มีการหยั่งความคิดเห็นใหม่ๆ ในวิธีการต่างๆ และมีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของบุคคลหลายๆ คน  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาบุคลากรระหว่างผู้บริหารกับครูผู้สอน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานโดยใช้เทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและวิธีการได้เอง
               3.  จากการใช้กลยุทธ์การนิเทศภายใน โดยกิจกรรมการประชุมกลุ่ม กำกับ ติดตามช่วยเหลือ และคอยให้คำปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด ผลการนิเทศภายใน พบว่า  กลุ่มเป้าหมาย สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดทุกคน และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยรวมอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การนิเทศภายในโดยกิจกรรมการประชุมกลุ่ม  การติดตามช่วยเหลือ และคอยให้คำปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับผู้นิเทศ โดยมีความสัมพันธ์ที่มุ่งช่วยเหลือกัน  ผสมผสานกับการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  เชื่อใจไว้ใจกันเพื่อช่วยเหลือปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของตนเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ต่างก็อยู่ในหน่วยงานการศึกษาเดียวกัน  ย่อมสามารถวิเคราะห์ผลการจัดการเรียนการสอน เพื่อหาจุดที่ยังเป็นปัญหาหรือจุดที่ต้องพัฒนา  ตลอดจนวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาได้ตรงกับสภาพความเป็นจริงได้ดี การนิเทศจึงเน้นการร่วมมือระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับนิเทศ ช่วยให้เกิดการยอมรับสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ร่วมในคิดค้น  ทำให้เกิดความเต็มใจปฏิบัติงานแนวทางการพัฒนางาน ซึ่งได้ร่วมกันกำหนดไว้  ทำให้การนิเทศได้ผลดีมากกว่าการชี้แนะจากบุคคลภายนอก สอดคล้องกับแนวคิดของสุรศักดิ์ ศิริ (2550 : 62) ที่กล่าวไว้ว่า การนิเทศภายใน เป็นการให้คำแนะนำ เสนอแนะสนับสนุนของผู้บริหารโรงเรียนหรือบุคลากรภายในโรงเรียน เพื่อให้ครูภายในโรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรจนเกิดประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนด้วยกระบวนการต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอนของครู และการบริหารจัดการของผู้บริหารโรงเรียน   และสอดคล้องกับแนวคิดของ สายันต์ วะเกิดเป้ง (2554 : 80) ที่กล่าวไว้ว่า การนิเทศภายในเป็นกระบวนการชี้แนะ แนะนำช่วยเหลือ สนับสนุน การให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโดยยึดหลักประชาธิปไตย  การปรับปรุง การนำ (Leading)   การอำนวยการหรือการสั่งการ (Directing) การประสานงาน (Co-ordinating)   แก่ครู ผู้บริหารในการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างในสถานศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้ผลดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหลักสูตร และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542   และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ฉบับที่ 2  พ.ศ.2545 

 ข้อเสนอแนะ

           1.  ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปใช้
               1.1  สถานศึกษา ควรนำหลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการมาพัฒนาสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องและพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
               1.2  สถานศึกษา ควรส่งเสริมให้บุคลากรไปศึกษาดูงานด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
               1.3  สถานศึกษา ควรส่งเสริมให้บุคลากรผลิตสื่อหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทันสมัยมาใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
               1.4  สถานศึกษา ควรมีการนิเทศภายในอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบเพื่อกระตุ้นให้บุคลากรเกิดการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องและเกิดการพัฒนามากขึ้น
               1.5  สถานศึกษา  ควรมีการเผยแพร่ความรู้ และเทคนิควิธีการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไปยังสถานศึกษาแห่งอื่นๆ  เพื่อพัฒนาเครือข่าย ความร่วมมือด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
          2.  ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
               2.1  ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของบุคลากรในรูปแบบต่างๆ  ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน  
               2.2  ควรทำการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสอนของบุคลากรในสถานศึกษา
               2.3  ควรทำการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านการวัดผลประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
               2.4  ควรทำการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนการสะเต็มศึกษา (STEM Education) ที่เน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง
               2.5  ควรมีการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน

เอกสารอ้างอิง

เกษมศักดิ์  ฆ้องลา.  การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโรงเรียนกุดบงพิทยาคาร  อำเภอโพนพิสัย  จังหวัดหนองคาย.  
          การศึกษาค้นคว้าอิสระ   ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2552.
จงกล  ผลประสาท.  การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านยางวิทยา
          อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา
.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ  ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  มหาสารคาม :
          มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.
นงลักษณ์  นนตระอุดร.  การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพครูด้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามหลักสูตร
          แกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช
2551  โรงเรียนแวงพิทยาคม  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23. 
          วิทยานิพนธ์  ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 2555.
น้ำเพชร  ทับชา.  การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  โรงเรียนอนุบาลแกดำ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
          มหาสารคาม เขต
1.  วิทยานิพนธ์  ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต   สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาสารคาม : มหาวิทยาลัย
          ราชภัฏมหาสารคาม, 2557.
บุญเพ็ง  ซุยถัง.  การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแบบบูรณาการ  โรงเรียนบ้านวังตาลาดสมบูรณ์ 
          อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ. 
การศึกษาค้นคว้าอิสระ   ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต   สาขาวิชาการบริหารการศึกษา   มหาสารคาม : 
          มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.
ประดิษฐ์  บุญเรืองวัตร.  การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนบ้านเข็งมิตรภาพที่ 139 
          อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม.
  การศึกษาค้นคว้าอิสระ  ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา   มหาสารคาม :
          มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.
พินันทร์  คงคาเพชร.  การวิจัยปฏิบัติการชั้นเรียน.  กรุงเทพฯ : แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์เปอเรชั่น, 2552.
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.   การบริหารทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทางการศึกษา.  มหาสารคาม : อภิชาตการพิมพ์, 2540.
สมิต  สัชฌุกร.  เทคนิคการประชุม.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2543.
สมจิต  สวธนไพบูลย์ และคณะ.  โครงการวิจัย : การวัดและประเมินผลรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.  ได้รับทุนการสนับสนุน
          จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี.  กรุงเทพฯ : ศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษา  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2550.
สมจินตนา  ภักศรีวงศ์.  เอกสารประกอบการประชุมหัวหน้าหน่วยงานประจำปี.  กรุงเทพฯ :  กรมสามัญศึกษา, 2540.
สายันต์  วะเกิดเป้ง.  การวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาความสามารถของครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
         โรงเรียนบ้านเม่นน้อย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต
3.  วิทยานิพนธ์  ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต
          สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 2554.
สุรศักดิ์  ศิริ.  รายงานการศึกษาการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา.  กรุงเทพฯ : ธารอักษร, 2550.
สุภรณ์  สภาพงศ์.  “การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด,” วารสารวิชาการ.  5 (3) : 31-32 ;     มีนาคม, 2545.
อันทนา  เข็มพิมาย.   การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโรงเรียนบ้านคูเมือง อำเภอขามสะแกแสง
          จังหวัดนครราชสีมา.
  การศึกษาค้นคว้าอิสระ   ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  มหาสารคาม :
          มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2552.
Kemmis, S. and R. McTaggart.  The Action Research Planner.  3 rd. ed.  Victoria :  Deakin University Press, 1988.
Sturtz, John P.  “Exploring a Beginning History Teacher’s Thinking Though the Phases of Teaching,” Dissertation
          Abstracts International
.  68 (10) : April, 2008.   

 

view

 หน้าแรก

 บทความ

กระดานสนทนา

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view