http://boonrod1.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

กระดานสนทนา

 ทำเนียบป.โท รุ่น 7

 รวมรูปภาพ

กลุ่มกศ.นอกระบบ กศน.ชัยภูมิ

 ติดต่อเรา

บริการ

ผลงานวิชาการ

บทความ กศน.

เกร็ดความรู้

กฎ ระเบียบ

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

สถิติ

เปิดเว็บ05/05/2010
อัพเดท30/11/2018
ผู้เข้าชม90,590
เปิดเพจ115,669
iGetWeb.com
AdsOne.com

การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

เจริญ บุญสุขา, จิตรลดา ซิวดอน, ผศ.ดร.ชัยยุทธ ศิริสุทธ์

บทคัดย่อ

     การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการ (action research) 2 วงรอบ กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า 18 คน และกลุ่มผู้ให้ข้อมูล 2 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกการนิเทศ และแบบประเมินผล ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์โดยใช้วิธีพรรณนาวเคราะห์ผลการศึกษาปรากฏดังนี้
     การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโรงเรียน บ้านหนองกุงใหม่  อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายในทำให้ครูมีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  และสามารถดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานที่ 12 ได้ แต่การดำเนินงานในตัวบ่งชี้ที่  2  มีผลการดำเนินงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก  ทั้งนี้เป็นเพราะว่าครูยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลและสารสนเทศ  จึงได้ดำเนินการพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศภายใน ทำให้ครูมีความรู้ความเข้าใจ  เกิดทักษะและสามารถดำเนินการจัดการข้อมูลและสารสนเทศอย่างเป็นระบบ  ครอบคลุมและเพียงพอต่อการนำไปใช้  สืบค้นได้ง่ายและรวดเร็วมีผู้รับผิดชอบข้อมูลและสารสนเทศของงานทั้ง  4  ด้าน  การวางแผนการจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศซึ่งโรงเรียนได้จัดเก็บในรูปแฟ้มเอกสาร  และการจัดเก็บโดยใช้ระบบต่างๆ ของคอมพิวเตอร์เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการนำข้อมูลและสารสนเทศมาใช้งาน

บทนำ

     ด้วยเหตุที่มาตรา  47  แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  บัญญัติให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก  เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับและต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด  ดังนั้นจึงได้มีการยกเลิกกฎกระทรวงที่ออกไปแล้ว  และให้ใช้กฎกระทรวงที่ปรับใหม่  คือ  กฎกระทรวงว่าด้วยระบบ  หลักเกณฑ์  และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา  พ.ศ.  2553  แทน  โดยที่หลอมรวมการประกันคุณภาพภายในของการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การอาชีวศึกษา  การอุดมศึกษา  และการประกันคุณภาพภายนอกที่ชัดเจนขึ้น  ซึ่งหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติของดำเนินการประกันคุณภาพภายในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมี  8  ประการ  ดังนี้  1)  กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา  2)  การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา 3) การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ  4)  ดำเนินงานตามแผนการจัดการศึกษาของสถานศึกษา 5) จัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพการศึกษา 6) จัดให้มีการประเมินคุณภาพคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา 7) จัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพคุณภาพภายใน  8) จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาในส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ยังคงกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติไว้เช่นเดิม  กล่าวคือ  ให้สถานศึกษามีการกำหนดเป้าหมาย  ซึ่งได้แก่มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา มีการพัฒนาและประเมินตนเองอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ใช้กระบวนการบริหารที่ดีสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการบริหารและจัดการศึกษามุ่งให้การประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาเป็นการประกันคุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงผลอันเกิดกับผู้เรียนเป็นสำคัญ  (สำนักทดสอบทางการศึกษา, 2553 : 5–6)
     โรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่  อำเภอภูเขียว  จังหวัดชัยภูมิ  จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  มีสภาพปัญหาและความต้องการพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสำหรับปีการศึกษา 2553 กล่าวคือ  จากรายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปี (Self Assessment Report : SAR)  (โรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่, 2552 : 52–58) พบว่า โรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่มีผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ในมาตรฐานที่ 12 อยู่ในระดับพอใช้  ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของ สมศ. ในรอบที่ 2 (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  (องค์การมหาชน), 2549 : 43–46) พบว่า โรงเรียนมีผลการประเมินคุณภาพภายนอก มาตรฐานที่ 11 มีผลการประเมินคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้  เมื่อพิจารณารายตัวบ่งชี้ พบว่า ตัวบ่งชี้ที่ 1 มีผลการประเมินคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ จากผลการประเมินดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษายังไม่ผสมผสานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริหารจัดการของโรงเรียนที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  บุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษา  อันจะนำไปสู่การประกันคุณภาพการศึกษาที่มีคุณภาพ ผู้ศึกษาค้นคว้าและผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในมาตรฐานดังกล่าวให้มีคุณภาพอยู่ในระดับที่สูงขึ้นผู้ศึกษาค้นคว้าในฐานะที่เป็นครูผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษามีความตระหนักและเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาภายใต้กรอบและนโยบายการประกันคุณภาพการศึกษาตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ  เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  และสามารถดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในให้ประสบผลสำเร็จตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่  เพื่อรองรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 3 ต่อไป

ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
     เพื่อพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่  อำเภอภูเขียว  จังหวัดชัยภูมิ

วิธีการศึกษาค้นคว้า
     กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าและผู้ให้ข้อมูล
        1.  กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าและให้ข้อมูล
            1.1 กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าและให้ข้อมูลหลัก (Research Participants)  จำนวน 18 คนประกอบด้วย ผู้ศึกษาค้นคว้า ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า ด้วยความสมัครใจ ได้แก่  ครูในโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่  จำนวน  17  คน
            1.2 กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม (Key  Informants) ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่  จำนวน 2 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
     เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  ได้แก่  แบบทดสอบ  แบบสังเกตการประชุมเชิงปฏิบัติการ  แบบสัมภาษณ์    แบบบันทึกการนิเทศภายใน  และแบบประเมินผล
     การวิเคราะห์ข้อมูล 
          ศึกษาและสร้างความเข้าใจ  วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบ  การสังเกต  การสัมภาษณ์  และการนิเทศภายใน  เพื่อกำหนดทิศทาง  สร้างข้อสรุป  ข้อมูลที่ได้ในเชิงปริมาณจะดำเนินการหาค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และค่าร้อยละ  แล้วนำเสนอรายงานผลการวิเคราะห์ตามกรอบการศึกษาค้นคว้าในลักษณะการบรรยายเชิงพรรณนาวิเคราะห์

ผลการศึกษาค้นคว้า
     การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research  Principle)  ตามแนวคิดของ เคมมิส และแม็กแท็กการ์ท (Kemmis and McTaggart, 1988 : 11-15)  เพื่อพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่ โดยดำเนินการเป็น 2 วงรอบ (Spiral) แต่ละวงรอบประกอบด้วย  4  ขั้นตอนคือ การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล  (Reflection)  มีผลการศึกษาค้นคว้าดังนี้
     ผลการดำเนินการพัฒนาในวงรอบที่ 1 จากการดำเนินการพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่  โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง  2  กิจกรรม  ได้แก่  กิจกรรมการบรรยายให้ความรู้และกิจกรรมการฝึกปฏิบัติทำให้ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้  ความเข้าใจในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา มาตรฐานด้านการบริหารและการจัดการศึกษา มาตรฐานที่ 12 ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าสามารถวิเคราะห์ข้อมูล  และดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูล  การตรวจสอบและทบทวนรายงานประจำปีของสถานศึกษาตามมาตรฐานที่ 12  ได้  นอกจากนี้สถานศึกษาได้มีการปรับโครงสร้างและระบบบริหารงานให้ชัดเจนขึ้น  พร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดทำคู่มือการบริหารงานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่  การบริหารงานวิชาการ การบริหารงานงบประมาณ การบริหารงานบุคลากร และการบริหารงานทั่วไป  ทำให้บุคลากรทุกคนได้ทราบและปฏิบัติตามบทบาท หน้าที่ตามภาระงานที่ตนรับผิดชอบได้  การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่ โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศภายใน พบว่า ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาในมาตรฐานที่12 มากยิ่งขึ้น และสามารถดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาในมาตรฐานที่ 12  ได้  แต่การดำเนินงานในตัวบ่งชี้ที่ 2  มีผลการดำเนินงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักทั้งนี้เป็นเพราะว่าผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลและสารสนเทศ ผู้ศึกษาค้นคว้าและผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าจึงได้มาปรึกษาหารือร่วมกันที่จะดำเนินการพัฒนาการดำเนินงานในตัวบ่งชี้ที่ 2 และมีมติกำหนดให้ใช้กลยุทธ์การนิเทศภายในสำหรับการพัฒนาในวงรอบที่ 2 ต่อไป
     ผลการดำเนินการพัฒนาในวงรอบที่ 2 ดำเนินการพัฒนาโดยใช้กลยุทธ์การนิเทศภายในทำให้ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจ  เกิดทักษะและสามารถดำเนินการจัดการข้อมูลและสารสนเทศอย่างเป็นระบบ  ครอบคลุมและเพียงพอต่อการนำไปใช้  สืบค้นได้ง่ายและรวดเร็ว  มีผู้รับผิดชอบข้อมูลและสารสนเทศของงานทั้ง 4 ด้าน โดยผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าร่วมกันกำหนดกรอบการเก็บข้อมูลเฉพาะที่จำเป็น การวางแผนการจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศซึ่งโรงเรียนได้จัดเก็บในรูปแฟ้มเอกสาร และการจัดเก็บโดยใช้ระบบต่างๆ  ของคอมพิวเตอร์  เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการนำข้อมูลและสารสนเทศมาใช้งาน

อภิปรายผล

     การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่  โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ในการศึกษาครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจนำมาอภิปรายผล  ดังนี้  การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่  ทั้ง 2 วงรอบ พบว่า  ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในมากยิ่งขึ้น  สามารถดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ  โรงเรียนมีการจัดการข้อมูลและสารสนเทศที่ครอบคลุมงานทั้ง  4  ด้าน  ได้แก่  การบริหารงานวิชาการ  การบริหารงานงบประมาณ  การบริหารงานบุคลากร  และการบริหารงานทั่วไป  สามารถนำไปพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ ฉัตรชัย โสรัตน์  (2549 : 77-80)  พบว่า การพัฒนาระบบงานประกันคุณภาพภายในโดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา คือ การประชุม  การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศ  ทำให้ระบบงานประกันคุณภาพภายในโรงเรียนลำน้ำพองมีความสมบูรณ์  ถูกต้อง  และมีประสิทธิภาพมากขึ้น  สอดคล้องกับผลการศึกษาของ วิสิทธิ์ สังฆะมณี (2549 : 130-138) พบว่า การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาด้านผู้เรียนโดยใช้กลยุทธ์การอบรมเชิงปฏิบัติการและการศึกษาดูงานส่งผลให้ครูมีความตระหนัก  มีความรู้ความเข้าใจในการทำงาน  ร่วมกันวางแผนพัฒนางาน  มีการตรวจสอบ  ประเมินตนเอง  ระดมกำลังช่วยเหลือการทำงาน  ทำให้มีการพัฒนา  และการปรับปรุงคุณภาพงานให้เข้าสู่มาตรฐาน  สอดคล้องกับผลการศึกษาของ กอบเกียรติ จันสุธรรม (2551 : 91-112) พบว่า การพัฒนาการดำเนินงานสารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ วิธีปฏิบัติสู่ความเป็นเลิศ (Best  Practice) และการนิเทศ กำกับ ติดตาม ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการดำเนินงานสารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนได้ดีขึ้น มีสารสนเทศที่มีคุณภาพ  การพัฒนาการดำเนินงานสารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนให้ได้มาตรฐานต่อไป  สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ประไพพรรณ์  ยศกลาง (2551 : 64-79)  พบว่า  การพัฒนาการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน  ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบการบริหารโรงเรียน  4  ด้าน  ข้าราชการครูมีความรู้  ความเข้าใจ  และสามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามความรับผิดชอบตามโครงสร้างการบริหารงานโรงเรียนได้อย่างคล่องตัว  สอดคล้องกับผลการศึกษาของ แพนลดา โคตรชมภู (2552 : 60-78) พบว่า  การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาภายในโดยใช้กลยุทธ์การประชุมแบบมีส่วนร่วม  AIC  และการนิเทศ  ทำให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจ  มีทักษะและสามารถนำความรู้  ความเข้าใจระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในไปใช้ในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาภายในโรงเรียนได้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ไพรวัล  จันทรัตนา (2552 : 79-110) พบว่า การพัฒนาการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในโดยใช้กลยุทธ์การประชุมแบบมีส่วนร่วม AIC การอบรมปฏิบัติการ และการศึกษาดูงานทำให้กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าทุกคนมีความรู้  ความเข้าใจ  เกี่ยวกับการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาและได้ข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์  สามารถประชาสัมพันธ์  เผยแพร่สู่สาธารณชน  ร่วมกับขั้นตอนของกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับผลการศึกษาของวันดนัย ค้าของ (2552 : 78-93)  พบว่า  การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา  โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศ  ทำให้บุคลากรครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาและสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรให้เกิดการพัฒนาตนเอง  จนก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ  และสามารถนำรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายใช้ในการพัฒนางานประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้งานการประกันคุณภาพการศึกษามีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
     จากการใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน  ในการพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่  ให้มีผลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น  สามารถอภิปรายผลดังนี้
     1. การประชุมเชิงปฏิบัติการ  มีกิจกรรมย่อย ได้แก่  กิจกรรมการบรรยายให้ความรู้และกิจกรรมการฝึกปฏิบัติทำให้ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้  ความเข้าใจ  ความตระหนักในบทบาทหน้าที่และเห็นความสำคัญของการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานด้านการบริหารและการจัดการศึกษา  มาตรฐานที่  12 ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าสามารถวิเคราะห์ข้อมูล  วางแผนและดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูล  การตรวจสอบและทบทวนรายงานประจำปีของสถานศึกษา  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า  เมื่อผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าได้รับความรู้จากการบรรยายของวิทยากร  ได้ศึกษาเอกสารใบความรู้  ได้ฝึกปฏิบัติจริงและร่วมปรึกษาหารือกัน  จึงทำให้ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้  ความเข้าใจ  ความตระหนักในบทบาทหน้าที่และเห็นความสำคัญของการดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชุมเชิงปฏิบัติการที่  พนัส  หันนาคินทร์  (2542 : 98)  กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นการประชุมปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาทางภาคปฏิบัติ ระหว่างผู้มีประสบการณ์ในงานนั้นๆ มาเป็นอย่างดี และผู้เข้ารับการอบรมมีความสนใจที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยการปฏิบัติจริง  และสอดคล้องกับหลักการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ สมพงษ์  เกษมสิน (2545 : 193–194) กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นการประชุมปรึกษาหารือกัน  เพื่อให้ครูได้รับการพัฒนาความรู้  เพิ่มพูนความรู้  ทักษะ  ประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้และการปฏิบัติงานระหว่างวิทยากร  หรือผู้มีประสบการณ์กับผู้ร่วมประชุมและมีความสนใจที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาการปฏิบัติงานร่วมกัน  เป็นวิธีการสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร
     2. การนิเทศภายใน มีกิจกรรมย่อย ได้แก่ การให้คำปรึกษาแนะนำ และการปรับปรุงแก้ไข  ทำให้ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจ  เกิดทักษะและสามารถดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าสามารถดำเนินการจัดการข้อมูลและสารสนเทศอย่างเป็นระบบ  ครอบคลุมและเพียงพอต่อการนำไปใช้  สืบค้นได้ง่ายและรวดเร็ว  มีผู้รับผิดชอบข้อมูลสารสนเทศของงานทั้ง  4  ด้าน  ได้แก่  การบริหารงานวิชาการ  การบริหารงานงบประมาณ  การบริหารงานบุคลากร  และการบริหารงานทั่วไป  โดยผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าร่วมกันกำหนดกรอบการเก็บข้อมูลเฉพาะที่จำเป็นการวางแผนการจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศซึ่งโรงเรียนได้จัดเก็บในรูปแฟ้มเอกสาร  และการจัดเก็บโดยใช้ระบบต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า  ผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าได้รับการช่วยเหลือแนะนำที่ดีจากผู้บริหารสถานศึกษา ทำให้มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น  มีขวัญกำลังใจที่ดีในการปฏิบัติงาน  มีความรู้ความเข้าใจ  เกิดทักษะและสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งสอดคล้องกับหลักการนิเทศภายในที่ สุรศักดิ์  ปาเฮ (2545 : 26) กล่าวว่า การนิเทศภายในโรงเรียน  (In-school  Supervision)  เป็นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้บริหารกับครูในโรงเรียน  ในการที่จะปรับปรุงแก้ไข  พัฒนาการทำงานของครูให้มีประสิทธิภาพและส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียน

ข้อเสนอแนะ
     1.  ข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปใช้
          1.1  ในการพัฒนาครั้งนี้  แม้จะมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น   แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ  เช่น  ความร่วมมือของบุคลากรในโรงเรียน  ความต่อเนื่องของการดำเนินกิจกรรมและความต่อเนื่องในการปฏิบัติ  เป็นต้น  ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขต่อไป  หรือนำไปพิจารณาเพื่อหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการศึกษาครั้งต่อไป
          1.2  การดำเนินงานการประกันคุณภาพภายใน  โรงเรียนควรมีการจัดองค์กร  โครงสร้างและระบบบริหารงานที่ชัดเจน  เพื่อบุคลากรจะได้ดำเนินการจัดการข้อมูลและสารสนเทศอย่างเป็นระบบ  ถูกต้อง  ครอบคลุมและเพียงพอตามภาระงานที่ตนเองรับผิดชอบ  สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          1.3  การนิเทศภายใน  ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ  เพื่อเป็นการให้คำแนะนำช่วยเหลือการปฏิบัติงานของบุคลากรในโรงเรียน  เป็นการสร้างสรรค์วิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  เป็นการร่วมมือสร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน  และเป็นการสร้างความมั่นใจ  ความสบายใจและกำลังใจในการทำงาน
          1.4  การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงาน  สามารถใช้เป็นข้อสนเทศในการพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  สำหรับมาตรฐานอื่น  โดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงเรียนต่อไป 
     2.  ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาค้นคว้าครั้งต่อไป
          2.1 ควรศึกษาการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลและสารสนเทศอย่างเป็นระบบ  ถูกต้อง  และครอบคลุมทุกมาตรฐาน
          2.2 ควรมีการศึกษาค้นคว้าให้ครอบคลุมทุกด้านของมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้การดำเนินงานมีความถูกต้อง และสมบูรณ์ตามระบบการประกันคุณภาพภายใน

                                                                                                     เอกสารอ้างอิง

กอบเกียรติ จันสุธรรม.  (2551). การพัฒนาการดำเนินงานสารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเมืองสรวงวิทยา อำเภอเมืองสรวง  จังหวัดร้อยเอ็ด.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.
ฉัตรชัย  โสรัตน์.  (2549). การพัฒนาระบบงานประกันคุณภาพภายในโรงเรียนลำน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาสารคาม.
ประไพพรรณ์ ยศกลาง.  (2551).  การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนบ้านโนนสัง อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาสารคาม
พนัส หันนาคินทร์.  (2542).  การพัฒนาบุคลากร.  กรุงเทพฯ : ต้นอ้อการพิมพ์.
แพนลดา โคตรชมพู.  (2552).  การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาภายในโรงเรียนบ้านนาคำมูลชมภูพร อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาสารคาม.
ไพรวัล จันทรัตนา.  (2552).  การพัฒนาการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในโรงเรียนบ้านนายม อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาสารคาม.
โรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่.  (2552). รายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปี (Self Assessment Report) ปีการศึกษา 2552.  ชัยภูมิ  :  โรงเรียนบ้านหนองกุงใหม่.
วันดนัย ค้าของ.  (2552).  การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านหนองโป่งราษฎร์บำรุง อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาสารคาม.
วิสิทธิ์ สังฆะมณี.  (2549). การพัฒนาระบบงานประกันคุณภาพภายในด้านผู้เรียน โรงเรียนชุมชนบ้านประตูชัย อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด.  การศึกษาค้นคว้าอิสระ    กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาสารคาม.
สมพงษ์ เกษมสิน.  (2545).  การบริหารบุคคลแผนใหม่ MODERN PERSONNEL ANAGEMENT (พิมพ์ครั้งที่ 4).  กรุงเทพฯ  :  วัฒนาพานิช.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์กรมหาชน).  (2549).  รายงานการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน รอบ 2 (พ.ศ.2549 – 2553).  กรุงเทพฯ  :  สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์กรมหาชน).
สำนักทดสอบทางการศึกษา.  (2553).  แนวทางการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553.  กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
สุรศักดิ์ ปาเฮ.  (2545).  การนิเทศภายในหัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียน. วารสารวิชาการ.  5(8)  :  25-31.
Kemmis, S. and R. McTaggart.  (1988). The Action Research Planner (3rded). Vitoria  :  Deakin University Press.

 

view

 หน้าแรก

 บทความ

กระดานสนทนา

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view